Table of Contents
- บทนำ (Introduction)
- Yak Shaving คืออะไร?
- ตัวอย่าง Yak Shaving
- บทเรียนจากเรื่อง Yak Shaving ที่หัวหน้าทุกคนควรรู้
- บทสรุป (Conclusion)
บทนำ (Introduction)
เมื่อราว 10 ปีก่อนผมเคยอ่านเรื่อง Yak Shaving ตั้งแต่สมัยเริ่มทำงานใหม่ ๆ ซึ่งมันเปลี่ยนมุมมองของผมเกี่ยวกับการจัดการงานไปโดยสิ้นเชิง Yak Shaving เป็นคำที่ทุกคนควรรู้จัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นหัวหน้างาน เพราะมันช่วยให้เราเข้าใจว่าทำไมบางครั้งงานที่ดูเหมือนง่าย แต่เมื่อลงมือทำจริงกลับกลายเป็นเรื่องซับซ้อนได้อย่างไม่น่าเชื่อ
Yak Shaving คืออะไร?
รูป Yak Shaving โดย David Revoy จาก Wiktionary
- Yak shaving ถ้าแปลตรงตัวมันคือการโกนขนจามรี (Yak)
- แต่ในบริบทนี้มันคือเรื่องเล่าเชิงเปรียบเทียบเกี่ยวกับงานที่ดูเหมือนง่ายแต่เมื่อทำจริงกลายเป็นซับซ้อนวุ่นวาย
- เช่น เริ่มจากงานหนึ่งแต่กลับต้องทำงานอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องมากมายเพื่อให้งานแรกสำเร็จ
- ที่มาของคำ(เปรียบเทียบ)นี้น่าจะมาจาก Carlin Vieri ในช่วงที่เขาทำงานที่ MIT AI Lab (1993–1998)
- เขาได้แรงบันดาลใจจากตอนหนึ่งของ The Ren and Stimpy Show ซึ่งมีชื่อว่า “Yak Shaving Day”
ตัวอย่าง Yak Shaving
1) Don’t Shave That Yak! จาก Seth’s Blog
เมื่อปี 2005 ใน blog ของ Seth Godin ได้ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่ใครสักคนต้องการจะล้างรถ แต่กลับต้องไปซื้อสายยางใหม่ที่ Home Depot เนื่องจากสายยางเสีย เลยต้องขอยืม EZPass จากเพื่อนบ้านเพื่อออกไปที่ร้าน ซึ่งก่อนจะยืมได้จะต้องคืนหมอนที่ยืมมาเสียก่อน แต่หมอนเจ้ากรรมก็ดันเสียหาย สุดท้ายต้องไปโกนขนจามรีที่สวนสัตว์มายัดใส่หมอน ทั้งหมดนี้เพียงเพื่อจะได้ล้างรถแค่นั้นเอง
Seth บอกว่า Yak Shaving คือการที่เราพบว่าตัวเองต้องทำงานที่ซับซ้อนและต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ โดยที่งานแต่ละอย่างนั้นดูเหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุด เค้าให้ความเห็นว่าบางครั้งงานก็ต้องทำให้ดีพอ แต่ไม่ต้องสมบูรณ์แบบก็ได้
2) Yak Shaving จาก Joi Ito’s Diary
ในปีเดียวกัน Joi Ito (ทีมก่อตั้ง ISP แห่งแรกในญี่ปุ่นและเป็นเพื่อนของ Seth) ก็ได้เขียนถึง Yak Shaving ใน blog ของเขาเช่นกัน โดยยกตัวอย่างการทำความสะอาดห้องที่ต้องออกไปซื้อถุงขยะซะก่อน แต่การจะไปก็ต้องเติมน้ำมันรถ, ต้องหาบัตรส่วนลดน้ำมัน และยังจะต้องหากุญแจในห้องด้วย ทุกอย่างเชื่อมโยงกันจนดูเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด
Ito บอกว่าชีวิตของเขาเต็มไปด้วย Yak Shaving แต่เป็นการทำงานที่ทำให้เขาได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ และก้าวหน้าในชีวิต
บทเรียนจากเรื่อง Yak Shaving ที่หัวหน้าทุกคนควรรู้
1) งานที่ดูเหมือนง่ายเมื่อลงมือทำจริงอาจซับซ้อนกว่าที่คิด
- งานที่มอบหมายบางอย่างอาจมีอุปสรรคที่คุณไม่รู้หรืออาจคาดไม่ถึง
- อย่าคิดว่างานต่าง ๆ จะง่ายเสมอไปโดยเฉพาะเมื่อคุณมองลงมาจากข้างบน (ในฐานะหัวหน้า)
2) ควรมีความเห็นอกเห็นใจในการบริหารทีม
- ไม่ควรมองข้ามความยากลำบากของพวกเขา
- มีความเข้าอกเข้าใจว่าพวกเขาอาจต้องเผชิญกับปัญหาที่คุณมองไม่เห็นแต่แรก
3) คำแนะนำในการจัดการ Yak Shaving
- มุ่งเน้นที่งานสำคัญและสร้างคุณค่าเป็นหลัก
- มองหาวิธีทำงานที่ทำได้ทันทีโดยไม่ต้องมีขั้นตอนซับซ้อน
- ยอมรับการทำงานที่ดีพอในตอนนี้ แทนที่จะทำให้สมบูรณ์แบบตั้งแต่ต้น
- จากเรื่องของ Seth:
- แทนที่จะต้องออกไปซื้อสายยางใหม่ คุณอาจจะลองหายืมสายยางของเพื่อนบ้านคนอื่นดู
- หรือเพื่อให้งานจบ คุณอาจตัดสินใจเข้าคาร์แคร์ไปเลยสำหรับการล้างรถครั้งนี้
- จากเรื่องของ Joi Ito:
- คุณอาจจะเก็บบ้านโดยใช้ลังเก่า ๆ แทนถุงขยะไปก่อนเพื่อทำให้งานเดินหน้าไปได้
- หรือหากจำเป็นต้องออกไปซื้อถุงขยะ ก็อาจไม่จำเป็นต้องหาบัตรส่วนลดในวันนี้ก็ได้
- อย่าลืมเผื่อเวลาให้กับงานต่าง ๆ อยู่เสมอ
- ในช่วงของการประเมินเวลา มี project manager หลายคนเอาเวลาที่ได้คูณ 2 ซะเลย
- จากนั้นไปต่อรองกับ stakeholder อีกที สาเหตุหนึ่งก็เพราะเรื่อง Yak Shaving นี่หละ
- พวกเขาบอกว่าโดยมากผลที่ได้มักใกล้เคียงกับเวลาที่ใช้จริงซะด้วยสิ
บทสรุป (Conclusion)
ผู้นำทุกคนควรตระหนักว่าไม่ใช่งานทุกอย่างจะง่ายเหมือนการคิดและมองแบบผิวเผินจากบนฟากฟ้า โดยเฉพาะเมื่อคุณไม่ได้ลงมือทำด้วยตัวเองในทุกขั้นตอน ซึ่งอาจมีบางจุดที่คุณมองข้ามหรือพลาดไปก็ได้
ใช่ บางทีมันไม่ใช่ว่าคุณไม่รู้เรื่องนี้หรอก แต่บางครั้งคุณอาจจะลืมมันไป
ดังนั้น การประเมินเวลาที่ดี, การตัดสินใจที่เด็ดขาดและถูกต้อง, การมุ่งเน้นผลลัพธ์ที่สร้างคุณค่า, รวมถึงการสนับสนุนทีมงานด้วยความเห็นอกเห็นใจ สิ่งเหล่านี้ช่วยให้ทีมทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่ามองข้ามเรื่อง Yak Shaving มันอาจเป็นอุปสรรคใหญ่ในการบรรลุเป้าหมายของทีมคุณอยู่ก็ได้